ประวัติความเป็นมา
เพนียด เป็นชุมชนโบราณ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากจารึกภาษาขอม อายุราว พ.ศ. ๘๐๐-๑๐๐๐ ได้กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งโบราณสถานเพนียดนั้น เดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรีในยุคแรก ซึ่งขอมถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา โดยมีเจ้าผู้ครองนครทำการปกครองอย่างเป็นอิสระ ได้มีการติดต่อกับอินเดียและรับเอาวัฒนธรรมของอินเดียเข้ามาใช้ในวิถีชีวิต เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเรือสำเภาผ่านไปมาค้าขายกับจีน และอินเดีย ดังนั้นชาวพื้นเมืองก็คือชาวชองและชาวขอม
ลักษณะทั่วไป
ชุมชนโบราณเพนียด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๕๗ เมตร ถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กำแพงก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๖ เมตร สูง ๒๓ เมตร ขอบนอกมีร่องรอยของอิฐและเค้าของถนนโบราณ ซากโบราณสถาน ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะที่พบเป็นศิลปะสมัยเมืองพระนคร ในยุคหลังประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
หลักฐานที่พบ
๑. พบจารึกเพนียด ๑ ขนาดกว้าง ๔๙ ซม. สูง ๔๗ ซม. หนา ๑๖.๕ ซม. ทำด้วยศิลาทราย จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ปัจจุบันอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
๒. โบราณวัตถุ เป็นหินแกะสลัก เป็นรูปและลวดลายต่าง ๆ เช่น ราหูอมจันทร์ เทวรูปหรือรามสูรย์ และเศษถ้วยชามต่าง ๆ ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว
เส้นทางเข้าสู่เมืองเพนียด
จากตัวเมืองจันทบุรีไปตามถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) ประมาณ ๓ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านเพนียดและวัดทองทั่วประมาณ ๑ กิโลเมตร โบราณสถานเมืองเพนียดจะอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร