• เขาโต๊ะโมะ
  • เขาโต๊ะโมะ
สถานที่ตั้ง บ้านอีเร็ม ตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

ประวัติความเป็นมา
คำว่า โต๊ะโมะ เป็นภาษาชอง แปลว่า ฉางที่เก็บของ ภาษาเขมรต่ำ แปลว่า ภูเขาหรือเนินสูง กรมศิลปากร สันนิษฐานว่า โบราณสถานเขาโต๊ะโมะ เป็นซากโบราณสถานที่เก่าแก่และใหญ่โต ระบุไม่ได้ว่าเป็นสมัยใด ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๑ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สันนิษฐานว่าแท่งหินเหล่านี้เกิดจากการแทรกดันตัวของหินอัคนี เรียกว่า หินบะซอลท์
จากคำบอกเล่าเชื่อว่าคงมีการนำแท่งหินจากบ่อขุมทรัพย์ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโบราณสถาน มาเรียงกันเพื่อทำเทวสถานไว้เป็นเครื่องสักการะบูชา สังเกตได้จากการปลูกต้นโศกไว้รอบ ๆ เทวสถาน

ลักษณะทั่วไป
เป็นเนินดินแบบฝาชี มีแท่งหินเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นรูปสี่เหลี่ยมบ้าง แปดเหลี่ยมบ้าง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒-๒๐ เซนติเมตร ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในเป็นสีน้ำตาลแก่เกือบดำ บางแท่งเคาะแล้วมีเสียงดังกังวานเหมือนระฆัง ซึ่งน่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าเกิดตามธรรมชาติ

หลักฐานที่พบ
บริเวณพื้นที่รอบ ๆ โบราณสถานประมาณ ๕ กิโลเมตร ชาวบ้านพบวัตถุโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ประเภทหินขัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องบดยาหิน พระพุทธรูปเก่าแก่ จากหลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ หรืออาจเป็นการอพยพเร่ร่อนของชนเผ่าดั้งเดิมที่อพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่ในแถบนี้

เส้นทางเข้าสู่เขาโต๊ะโมะ
เส้นทางที่ ๑ เดินทางจากอำเภอบ่อไร่ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร แยกซ้ายที่บ้านหนองบัวตามถนนร.พ.ช. ประมาณ ๘- ๙ กิโลเมตร
เส้นทางที่ ๒ เดินทางจากจังหวัดจันทบุรีตามเส้นทางถนนสุขุมวิท ถึงกิโลเมตรที่ ๘ แยกซ้ายทางเข้าวัดวังสรรพรส ข้ามสะพานคลองเวฬุ เข้าสู่บ้านดอนสูง แยกซ้ายเข้าบ้านเนินดินแดง และบ้านอีเร็ม ถึงเขาโต๊ะโมะ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร