วิธีการเล่น
อุปกรณ์การเล่น
โทน เครื่องดนตรี เดิมใช้ "โทน" ตีให้จังหวะ "ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" หรือ "ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" ใช้โทนใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ ต่อมานิยมใช้ "รำมะนา" แทนเพราะเสียงดังไพเราะและเร้าใจดีกว่า อาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังน้ำมันตีให้จังหวะแทนก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้ฉิ่งตีให้จังหวะได้อีกด้วยวิธีการเล่น
ผู้เล่นชายจะโค้งชวนหญิงออกมารำเป็นคู่ ๆ ช่วยกันร้องรำตามกันไปเป็นวง นักดนตรีก็ตีโทนให้จังหวะเร้าใจ เพลงหนึ่งๆ จะร้องซ้ำ ๓-๔ เที่ยวก็จะเปลี่ยนเพลงต่อไป การรำไม่มีท่ารำแน่นอนตายตัวมักเป็นการใส่ท่าตามเนื้อร้อง ใครต้องการรำคู่กับใครก็เปลี่ยนคู่รำกันตามใจ เด็กๆ หรือผู้มาดูก็ยืนล้อมวง อาจช่วยปรบมือและร้องตามไปด้วยอย่างสนุกสนาน ผู้เล่นรำโทนแต่งกายสวยงามตามสบายตามสมัย ไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรแน่นอนตายตัวโอกาสที่เล่น
การเล่นรำโทน ไม่มีโอกาสที่แน่นอน ชาวบ้านนึกอยากจะเล่นเมื่อใดก็ชวนกันมาเล่นที่ลานบ้านคนใดคนหนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนเท่านั้นมักเริ่มเล่นตอนหัวค่ำ เล่นกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีคนเล่นหรือง่วงนอนกันมากแล้วก็จะเลิกเล่น แยกย้ายกันกลับบ้านของตนคุณค่า
รำโทนเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชาวบ้านเมืองลพบุรี นิยมเล่นกันแพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ หรือในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังสงครามเลิกความนิยมเล่นรำโทนลดลงตามลำดับ ส่วนหนึ่งพัฒนาไปเป็นการละเล่น "รำวง" และ "รำวงมาตรฐาน" เหตุที่เรียกชื่อว่ารำโทน เพราะเดิมเป็นการรำประกอบจังหวะการตี "โทน" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่น ภายหลังแม้ใช้เครื่องดนตรีอื่น เช่น รำมะนา ตีให้จังหวะแทนก็ยังเรียกชื่อเช่นเดิม หนุ่มสาวสมัยก่อนเล่นรำโทนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจยามเหงาหรือยามสงครามที่ค่ำลงก็ไม่มีอะไรจะทำกัน เป็นการเพิ่มชีวิตชีวาให้กับชีวิตที่ต้องเสี่ยงภัยในยามศึกสงคราม
เพลงที่ใช้ร้องมักเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องง่ายๆ เป็นเพลงสั้นๆ ไม่มีชื่อเพลงเฉพาะ มักเรียกชื่อตามวรรคแรกของเนื้อร้อง ไม่บอกชื่อผู้แต่งใครอยากแต่งขึ้นมาใหม่ก็ได้ จำกันร้องตามกันต่อๆ มา เนื้อร้องมักเป็นการเกี้ยวพาราสี ปลุกใจหรือสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่หรือมาจากวรรณคดีไทย เช่น เพลงลพบุรีของเรานี่เอ๋ย เจ็ดนาฬิกา ใครรักใครโค้งใคร เชื่อผู้นำของชาติ ศิลปากร ฯลฯ