ในการแสดงออกทางศิลปะฟ้อนรำ
รำกั๊บแก้บ เป็นการแสดงออกของชาวอีสานอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยที่เป็นศิลปะที่มีความสุนทรีย์จากการใช้เครื่องประกอบจังหวะที่ง่ายที่สุด คือ ไม้แก้บ ผสมการแสดงออกด้วย การเหยาะย่างให้เข้ากับจังหวะดนตรี เป็นลีลาท่าทางต่าง ๆ ตามแต่ตนจะวาดมโนภาพเป็นท่าทางต่าง ๆ เช่น การเลียนแบบสัตว์ การแลียนแบบนักมวยโบราณ แต่สิ่งที่จำเป็นคือ มือที่ขยับแก้บ หรือรูดแก้บจะหยุดไม่ได้เลย ต้องขยับไปตลอดจนจบเพลง นักแสดงบางคนคิดท่าทางต่าง ๆ จนสามารถแสดงโชว์เดี่ยว เป็นลีลาท่าทางต่าง ๆ นานนับสิบนาที โดยผู้ชมไม่เบื่อหน่าย การเล่นกั๊บแก้บจึงเป็นศิลปะที่แสดงความสามารถเด่นชัดเฉพาะตัวไม่แพ้นักดนตรี หมอลำ หมอแคน หมอพิณ ฯลฯ
ชนิดของไม้กํ๊บแก้บและการผลิต
กั๊บแก้บมีหลายชนิด เช่น
๑. กั๊บแก้บไม้ ๔ อาจเป็นกั๊บแก้บชนิดสั้น ๆ ขนาดประมาณ ๔ - ๖ นิ้ว ขนาดพอมือถือขยับได้ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้มีเสียงแกร่งเมื่อขยับไม้กระทบกัน นอกจากนี้ยังอาจเป็นกรับไม้ชนิดยาวประมาณ ๑ ฟุต มีตาปูตอกร้อยเศษสตางค์ หรือฝาขวดน้ำอัดลม ๔ - ๕ ฟุต ให้กระทบกันดังกรุ๊งกริ๊ง เมื่อขยับให้กระทบกัน
๒. กรับไม้ ๓ ทำจากไม้พยุง ๒ ชั้น ยาว ๓๐ ซม. กว้าง ๒ ซม. ชั้นล่างทำให้เป็นหยักฟันปลา แต่ตอกตะปูกับรูสตางค์ไว้ โดยจะมีไม้อีกชิ้นหนึ่งประมาณ ๔ - ๕ นิ้ว ทำหน้าที่เคาะบนท่อนไม้ที่เรียกว่า "ตอกลิ่ม" โดยถือว่า รูดขึ้น ๑ ครั้ง รูดลง ๑ ครั้ง แล้วจึงตอกลิ่ม ๑ ครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่าไม้กั๊บแก้บ ไม่ติดบานพับที่ปลายมือจับเพราะจะทำให้ขยับไม้ไม่สะดวก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องขยับไม้อยู่ตลอดเวลาจะหยุดไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะฝึกผ่านพ้นขั้นนี้ต้องใช้เวลานานนับเดือน ส่วนไม้กั๊บแก้บที่เป็นกรับมือขนาดเล็ก ก็จะใช้ทักษะการขยับกรับอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้กรับกระทบกันในอุ้งมือเป็นจังหวะตลอดเพลง