สิ่งดึงดูดใจ
เดิมเป็นโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง และกองทัพเรือ ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมศิลปากร เรือพระราชพิธีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรจำนวน ๕๒ ลำ แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธีมีจำนวนจำกัด จึงสามารถจัดแสดงเรือพระราชพิธีได้เพียง ๘ ลำ ส่วนอีก ๖ ลำเก็บรักษาไว้ที่ท่าวาสุกรี อีก ๓๘ ลำ เก็บรักษาไว้ ณ กองเรือเล็ก แผนกเรือพระราชพิธี กองทัพเรือ บริเวณสะพานอรุณอมรินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือเป็นผู้ดูแล เรือพระราชพิธีที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี มี ๘ ลำดังนี้
๑. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ (เดิมมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างใน รัชกาลที่ ๑) จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง โขนหัวเรือเป็นหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความยาว ๔๔.๙๐ เมตร ความกว้าง ๓.๑๔ เมตร กินน้ำลึก๐.๔๑ เมตร ใช้ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับการยกย่องจากองค์การเรือโลกให้เป็น "เรือมรดก" เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๕
๒. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ สร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "เรือมงคลสุบรรณ" โขนเรือเป็นพญาครุฑ ต่อมาเสริมรูปจำหลักพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ในรัชกาลที่ ๔ แล้วโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า "นารายณ์ทรงสุบรรณ" เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ โดยกองทัพเรือและกรมศิลปากรเพื่อน้อมเกล้าฯถวายเนื่องในวโรกาสครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการครองราชสมบัติ รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๙
โขนหัวเรือจำหลักรูปนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คทา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัยประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ปิดทองประดับกระจกเขียนลายดอกพุดตาน ความยาว ๔๔.๓๐ เมตร ความกว้าง ๓.๒๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๑๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย
๓. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามว่า "เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช" และโปรดให้สร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โขนหัวเรือเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ความยาว ๔๔.๘๕ เมตร ความกว้าง ๒.๕๘ เมตร กินน้ำลึก ๐.๘๗ เมตร ใช้ฝีพาย ๕๔ นาย นายท้าย ๒ นาย
๔. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ ๕ โขนหัวเรือจำหลักลายปิดทองรูปพญานาคเล็กๆ ความยาว ๔๕.๖๗ เมตร ความกว้าง ๒.๙๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๑ เมตร ใช้ฝีพาย ๖๑ นาย นายท้าย ๒ นาย
๕. เรือกระบี่ปราบเมืองมาร จัดเป็นเรือรูปสัตว์ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง กรมศิลปากรได้จัดสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งลำเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โขนหัวเรือสลักรูปขุนกระบี่ ปิดทองประดับกระจก เขียนลายดอกพุดตานทอง ความยาว ๒๘.๘๕ เมตร ความกว้าง ๒.๑๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๕๖ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๖ นาย นายท้าย ๒ นาย
๖. เรือเอกชัยเหินหาว สร้างในรัชกาลที่ ๑ ลำปัจจุบันซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยกรมอู่ทหารเรือและกรมศิลปากร จากหัวและท้ายเรือเดิม โขนหัวเรือเป็นไม้รูปดั้งเชิดสูง เขียนลายรดน้ำรูปเหราหรือจระเข้ ปิดทอง ความยาว ๒๙.๗๖ เมตร ความกว้าง ๒.๐๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๖๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๘ นาย นายท้าย ๒ นาย
๗. เรืออสุรวายุภักษ์ จัดเป็นเรือรูปสัตว์ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ โขนหัวเรือสลักเป็นรูปยักษ์กายสีครามเป็นนก ปิดทองประดับกระจก มีช่องปืนที่ใต้โขนเรือ ความยาว ๓๑.๐๐ เมตร ความกว้าง ๒.๐๓ เมตร กินน้ำลึก ๐.๖๒ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๐ นาย นายท้าย ๒ นาย
๘. เรือครุฑเหิรเห็จ จัดเป็นเรือรูปสัตว์ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง ลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ จากโขนเรือเดิม โขนเรือเป็นรูปพญาครุฑยุคนาค มีช่องปืนที่ใต้โขนเรือ ความยาว ๒๘.๕๘ เมตร ความกว้าง ๒.๑๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๕๖ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๔ นาย นายท้าย ๒ นาย
สิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี
มีวิดีทัศน์เกี่ยวกับการเห่เรือในพระราชพิธีและเรือพระที่นั่งที่เก็บรักษาไว้
เส้นทางเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี
๑. ทางเรือ เข้าทางคลองบางกอกน้อยอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟบางกอกน้อย
๒. ทางบก เข้าทางซอยเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ที่เชิงสะพานอรุณอัมรินทร์ ฝั่งที่ติดกับภัตตาคารเจ้าพระยา (ทางเข้าชุมชนวัดดุสิตาราม) เดินไปตามทางจะมีป้ายชี้บอกจนถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี