
ช่วงเวลา จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เรียกว่า บุญเดือน ๑๑ ตามฮีตคองของชาวอีสาน
ความสำคัญ
เป็นประเพณีของชาวอีสาน ตามฮีตสิบสองคอง ๑๔ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ หรือวันออกพรรษา ต้องทำปราสาทผึ้ง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าการทำบุญปราสาทผึ้งจะเริ่มในตอนเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านทำอาหารไปตักบาตรเลี้ยงพระที่วัด เสร็จจากเลี้ยงพระแล้วก็จะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นกลุ่มๆ เช่น บางกลุ่มจะไปช่วยกันหุงน้ำมันมะพร้าว เพื่อใช้จุดประทีปบูชา
ในวันนี้และแบ่งส่วนถวายวัดไว้ใช้ตามไฟในช่วงพ้นพรรษาไปแล้ว กลุ่มช่างฝีมือจะไปปลูกร้านประทีปไว้ที่หน้าวิหารหรือหน้าหอแจก (ศาลาการเปรียญ)เป็นร้านไม้สูงประมาณเมตรเศษๆ พื้นร้านปูด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ตกแต่งร้านด้วยทางมะพร้าวและต้นกล้วยให้ดูงดงาม เพื่อวางถาดประทีป และทำโครงปราสาทผึ้งด้วยไม้ไผ่ และกาบกล้วย แล้วแทงหยวกเป็นรูปเขี้ยวหมา ตกแต่งโครงปราสาทเป็นรูปหอปราสาท ซึ่งจะมีขนาดเล็กใหญ่ขึ้นกับศรัทธาและกำลังของคุ้มบ้านฝ่ายหญิงจะแบ่งกำลังทำถาดประทีปไส้ประทีบ และทำดอกผึ้งประดับปราสาท ถาดประทีบจะทำจากผลมะตูมกา ส้มกา ตามป่าในหมู่บ้าน นำมาผ่าซีกแล้วควักไส้ออกให้หมด ขูดผิวให้เรียบ ไส้ประทีบจะนำด้ายมาฟั่นให้เป็นรูปตีนกา เพื่อรำลึกถึงแม่กาที่ได้อุปการะเลี้ยงดูพระกกุธสันโธ ปัจเจกพระพุทธเจ้าในอดีต แล้ววางไส้ประทีบลงในถาดประทีป เทน้ำมันมะพร้าวลงถาด
ประทีป เพื่อใช้จุดที่ร้านประทีบหรือที่บ้านของตน
ฝ่ายหญิงที่ทำดอกผึ้งจะนำขี้ผึ้งมาใส่ถ้วยหรือขันลงลอยในน้ำร้อนที่ตั้งไฟอ่อนๆ ไว้ให้ขี้ผึ้งละลาย แล้วใช้ผลมะละกอปอกเปลือกก้นมะละกอแล้วเอาก้นมะละกอจุ่มขี้ผึ้งที่ละลายแล้วยกลงจุ่มน้ำเย็น ดอกผึ้งจะหลุดร่อนออกมา อยากได้ดอกผึ้งหลากสีจะใช้สีขี้ผึ้งสีต่าง ๆ กัน เหลืองเข้มเหลืองอ่อน เหลืองสด ขาว แล้วใช้ดอกไม้ป่า ดอกไม้พื้นบ้านเสียบตรงกลางเป็นเกสร แล้วนำไปประดับตัวปราสาทได้ปราสาทผึ้งที่งดงาม จากนั้นจัดเครื่องไทยธรรม มี สมุด ดินสอ ผ้าสบงจีวร และเครื่องใช้อื่นๆ และปัจจัยทั้งหลายตกค่ำชาวบ้านจะแห่ปราสาทผึ้งไปวัด เมื่อถึงวัดจะนำปราสาทผึ้งไปเดินเวียนประทักษิณวิหารหรือหอแจกก่อน ๓ รอบจึงจะเอาปราสาทผึ้งขึ้นไปตั้งไว้หน้าพระประธาน ในวิหารหรือบนหอแจก หลังจากกราบพระประธานแล้ว ชาวบ้านยัง
ไม่ถวายปราสาทผึ้งจะลงมาที่ร้านประทีปมาร่วมกันจุดประทีปบูชา ขณะจุดประทีปก็จะจุดดอกไม้ไฟ พลุ ไปด้วย และจุดโคมลอย นอกจากจะจุดธูปเทียนบูชาไปด้วย
เมื่อจุดประทีปบูชาพระพุทธเจ้าแล้วชาวบ้านจะกลับขึ้นไปที่วิหารหรือหอแจก ฟังพระสวดปริตรมงคล และฟังพระเทศน์อานิสงส์การทำปราสาทผึ้ง ๑ กัณฑ์ แล้วจึงถวายปราสาทผึ้ง และเครื่องไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธีการทำบุญปราสาทผึ้ง เมื่อพระภิกษุสงฆ์ชักเครื่องไทยธรรมไปแล้วชาวบ้านจะนำปราสาทผึ้งมาทิ้งไว้ตามตนไม้