การเลือกที่นั่งและทิศทางของคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานนี้เป็นความเชื่อของชุมชนไทยพวน บ้านกลางใหญ่ ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ความสำคัญ
ความสำคัญของการเลือกที่นั่งและทิศทางของคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นความเชื่อของชุมชนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาลจนกลายเป็นจารีตที่ต้องปฏิบัติหากทำไม่ถูกฮีตรอย (จารีต) จะเกิดอัปมงคลแก่ชีวิตพิธีกรรม
เมื่อคู่บ่าวสาวตกลงสู่ขอแต่งงาน การกำหนดวันแต่งผู้ใหญ่จะไปหาฤกษ์ยามจากพระภิกษุสงฆ์ผู้ใหญ่ที่ตนนับถือหรือจากอาจารย์ (จาร) ผู้รู้ฤกษ์ยามให้หาฤกษ์ให้ เมื่อได้ฤกษ์ยามแล้ว ในวันแต่งก็จะแห่เจ้าบ่าวมาบ้านเจ้าสาว และให้เจ้าบ่าวไปนั่งรอเจ้าสาวอยู่ในห้องพิธีที่เตรียมพาขวัญ(บายศรี) ไว้สำหรับสู่ขวัญ ได้ฤกษ์เฒ่าแก่ที่เป็นคู่ผัวเดียวเมียเดียวจะไปจูงเจ้าสาวจากที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องมาที่ห้องพิธีจากนั้นจะนำบ่าวสาวมานั่งหน้าพาขวัญ (พานบายศรี หรือขันบายศรี)ก่อนนั่งจะต้องดูทิศก่อนเพื่อเลือกที่นั่งตามทิศให้เป็นมงคลโดยเฒ่าแก่ผู้รู้จะเป็นคนพิจารณา จากโคลงหลาวเหล็กว่าทิตย์ ศุกร์ - ตก เสาร์ จันทร์ - ออก คาร พุทธ - เหนือ
พฤหัส - ใต้
ทิตย์ ศุกร์ - ตก หมายความว่า วันอาทิตย์,วันศุกร์ หลาวเห็กจะอยู่ทิศตะวันตก การทำมงคลใดๆใน ๒ วันนี้อย่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเป็นอันขาด เพราะจะถูกหลาวเหล็กทิ่มแทง เป็นอัปมงคล คู่แต่งงานจะอยู่ด้วยกันไม่ยืด
เสาร์ จันทร์ - ออก การทำการมงคลใดๆ ใน ๒ วันนี้ จะนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกไม่ได้ หลาวเหล็กจะทิ่มแทงไม่เป็นมงคล
คาร พุธ - เหนือ วันอังคาร วันพุธ หลาวเหล็กอยู่ด้านทิศเหนือ การกระทำมงคลใดๆ อย่าได้นั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือเพราะจะเกิดอัปมงคลแก่ตน
พฤหัส - ใต้ ก็เช่นเดียวกัน วันนี้หลาวเหล็กอยู่ด้านทิศใต้ จึงไม่ควรนั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ อันเป็นทิศอัปมงคล
สาระสำคัญ
เป็นความเชื่อของชุมชนไทพวนที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล และนับเป็นฮีต (จารีต) ที่สำคัญในวิถีชีวิตของชุมชน และนับเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน