เป็นความเชื่อเรื่องการรักษาต้อเนื้อให้หายขาดได้ โดยลูกคนหัวปีหรือลูกคนสุดท้อง ที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูเฒ่าหมอแก่
ความสำคัญ
เป็นการแสดงออกด้านภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้านสุขภาพของคนในชุมชน ขณะที่วงการแพทย์เข้าไปดูแลได้ไม่ทั่วถึงซึ่งทำให้คนในชนบทได้มีที่พึ่งในยามเจ็บป่วยพิธีกรรม
การตัดต้อเนื้อ ผู้รักษาจะใช้ทะนาน(กระลาตาเดียวขนาดจุของได้ประมาณ ๑ ลิตร) ชิ้นเนื้อ ๓ ชิ้นบางๆ จะเป็นเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่ ก็ได้ มีดคม ๆ ๑ เล่มก่อนทำพิธีตัดต้อ คนไข้จะไปบอกผู้รักษา โดยใช้คำพูดว่า "มานิมนต์ตัดต้อให้ที" หลังจากนั้นให้คนไข้เตรียมนำเนื้อไปวางบนพานแล้วเอาทะนานตาเดียวครอบไว้ พร้อมด้วยดอกไม้ ๓ ดอก เทียน ๑ เล่ม เงินค่าครู ๖ สลึง เหล้าขาว ๑ แก้ว ผู้รักษาจะนำของที่คนไข้เตรียมมาทั้งหมดไปตั้งที่หิ้งบูชา เพื่อทำพิธีบอกครูเฒ่าหมอแก่ว่าจะทำการตัดต้อในเย็นวันนี้(เวลาตะวันใกล้ตกดิน) โดยตั้งนะโม ๓ จบ และสวดชุมนุมเทวดา เสร็จแล้วนำพานไปทำพิธีตัดต้อ ให้คนไข้นั่งบนก้นครกตำข้าวโบราณ ถือพานไว้ หันหน้าไปตามตะวันที่กำลังจะตกดิน ทำพิธีตัดที่ตาข้างดีก่อนแล้วจึงกลับมาทำพิธีตัดตาข้างที่เป็นต้อ โดยนำทะนานมาครอบที่ตา นำชิ้นเนื้อมาวางบนก้นทะนาน เอามีดจรดชิ้นเนื้อแล้วว่าคาถา ดังนี้ "ลูกสุดท้องน้องทั้งหลายตัดต้อหายสายต้อขาด สายฟ้าฟาด พุทธังละลาย ธัมมังละลาย สังฆังละลาย พุทธังปัจจุขามิ ธัมมังปัจจุขามิ สังฆังปัจจุขามิ แล้วกดมีดตัดชิ้นเนื้อ เป่าปากว่า เพี้ยง สวาหะ ทุกครั้งที่ตัดเนื้อ โดยกำหนดว่าเย็นแรก ตัดเนื้อ ๓ ชิ้น เย็นที่ ๒ ตัดเนื้อ ๒ ชิ้น เย็นที่ ๓ ตัดเนื้อ ๑ ชิ้น