กองข้าวบวงสรวง

  • กองข้าวบวงสรวง
  • กองข้าวบวงสรวง
  • กองข้าวบวงสรวง

ช่วงเวลา

หลังสงกรานต์ประมาณ ๓-๔ วัน ปัจจุบันอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กำหนดวันงานระหว่างวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมาร่วมงานได้

ความสำคัญ

ประเพณีกองข้าวบวงสรวง เป็นประเพณีที่มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อกระทำพิธีแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข เพื่อบวงสรวงดวงวิญญาณทั้งหลาย และเสริมสร้างเสถียรภาพทางจิตใจ สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้เป็นปึกแผ่น ให้ทุกคนรักและผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเป็นการพบปะกันเพื่อความสนุกสนานและกลับไปอย่างมีความสุข

พิธีกรรม

พิธีจะเริ่มเวลา ประมาณ ๑๗.๐๐ น. เมื่อชาวบ้านจะนำข้าว อาหาร ที่เตรียมไว้ไปถึงสถานที่นัดหมาย ซึ่งเป็นบริเวณที่ว่าง จัดที่นั่ง ปูเสื่อ นำอาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม พร้อมธูปเทียน มีผู้นำทำพิธีขออาหารจากชาวบ้านมาใส่กระทงที่เตรียมไว้ จุดธูปเทียนพร้อมกันรวมไปปักไว้ใกล้กระทง แล้วร้องเชิญผีสางเทวดาทั้งหลาย ให้มารับเครื่องสังเวย และอำนวยพรให้ผู้มีศรัทธานำอาหารมาเซ่นสังเวยอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายคล่องได้กำไรงาม ถ้าปลูกพืชก็ขอให้ได้เก็บเกี่ยวมาก ๆ ออกทะเลหาปลาก็ขอให้จับปลาได้มาก ๆ ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง เมื่อธูปหมดดอก ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารในสำรับ ร่วมกันร้องรำทำเพลงสนุกสาน ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน อาหารที่เหลืออยู่ให้ทิ้งไว้ให้ทานแก่สัตว์โดยไม่นำกลับบ้านโดยเด็ดขาด

สาระ

ประเพณีกองข้าวบวงสรวง เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี ในสมัยโบราณนิยมจัดกันทั่วไปทุกอำเภอ ปัจจุบันอำเภอศรีราชา ได้รื้อฟื้นและจัดประเพณีกองข้าวบวงสรวง เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีและเสริมสร้างความสามัคคีของประชาชนในอำเภอศรีราชาและจังหวัดชลบุรี